STEM Education (สะเต็มศึกษา)

STEM ย่อมาจาก Science, Technology, Engineering and Mathematics คือ การบูรณาการความรู้ระหว่าง 4 สาขาวิชา ซึ่งได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาในปัจจุบัน หาคำตอบว่าทักษะ STEM คืออะไรและมีประโยชน์อย่างไรได้ในบทความนี้

คุณครู นักเรียน และผู้ปกครองหลายคนคงเคยเห็นหรือได้ยินคำว่า STEM หรือ STEM Education (สะเต็มศึกษา) กันมาบ้าง วันนี้ Twinkl.co.th (ทวิงเคิล) จะพามาทำความรู้จักกันว่า STEM คืออะไร และทักษะ STEM นั้นมีความสำคัญอย่างไร

สรุปข้อมูลสำคัญ

  1. STEM ย่อมาจาก Science, Technology, Engineering and Mathematics หรือการบูรณาการความรู้ระหว่าง 4 สาขาวิชา ซึ่งได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์
  2. STEM Education หรือ “สะเต็มศึกษา” คือการนำเอาทักษะ STEM มาจัดเป็นรูปแบบการศึกษา ที่ผสานรวมหรือบูรณาการความรู้ทั้ง 4 สาขาเข้าด้วยกัน
  3. Science (วิทยาศาสตร์) เน้นไปที่การศึกษาหาความรู้เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในธรรมชาติ ผ่านกระบวนการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Enquiry) ซึ่งได้แก่ การตั้งสมมติฐานค้นคว้าอย่างมีขั้นตอน รวบรวมหลักฐาน ทดลองเพื่อพิสูจน์ และสรุปยอดความรู้ตามข้อมูลที่ได้
  4. Technology (เทคโนโลยี) เน้นไปที่การนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง รวมไปถึงการแก้ปัญหา ปรับปรุง พัฒนาหรือคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ที่ช่วยตอบสนองความต้องการของคนเรา โดยอาศัยกระบวนการทำงานทางเทคโนโลยี
  5. Engineering (วิศวกรรมศาสตร์) เน้นไปที่การนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มาใช้พัฒนาเครื่องจักร หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับอำนวยความสะดวกและยกระดับคุณภาพชีวิตมนุษย์และธรรมชาติรอบตัวเรา
  6. Mathematics (คณิตศาสตร์) เน้นไปที่การคำนวณ ทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ เช่น การเปรียบเทียบ การจัดกลุ่ม การจำแนก รวมถึงการบอกรูปร่างและคุณสมบัติต่าง ๆ เป็นต้น และยังให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดความคิดรวบยอด (Concept) คณิตศาสตร์จึงถือเป็นสาขาวิชาที่ช่วยเชื่อมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน

STEM คืออะไร

STEM ย่อมาจาก Science, Technology, Engineering and Mathematics หรือการบูรณาการความรู้ระหว่าง 4 สาขาวิชา ซึ่งได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดยรูปแบบการเรียนรู้ที่นำเอาแกนหลักของสาขาวิชาเหล่านี้มาผสานรวมกันเรียกว่า STEM Education หรือ “สะเต็มศึกษา” ซึ่งถือเป็นการบูรณาการระหว่างศาสตร์ต่าง ๆ (Interdisciplinary Integration) เพื่อนำเอาจุดเด่นของแต่ละสาขาวิชามาผสมผสานกันอย่างลงตัว โดยมุ่งเน้นไปที่ทักษะหรือการปฏิบัติจริง ไม่ใช่เพียงการเรียนทฤษฎีเท่านั้น

ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ส่งผลให้โลกดิจิทัลและนวัตกรรมกลายเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ในโลกแห่งความจริง ดังนั้น เพื่อเป็นการตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรบุคคลเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายของโลกยุคใหม่ ทักษะ STEM จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ การทำงาน และการดำเนินชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน

STEM มีที่มาอย่างไร

ตัวย่อ STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) ถูกนำมาใช้เรียกแนวทางการเรียนรู้ของสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เป็นครั้งแรกโดยมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (U.S. National Science Foundation หรือ NSF) ในปี ค.ศ. 2001

โดยในตอนแรกทาง NSF ได้ใช้ตัวย่อ SMET เพื่อกล่าวถึงสาขาอาชีพ รวมถึงศาสตร์หรือหลักสูตรการศึกษาในที่รวมเอาความรู้และทักษะจากสาขาวิชาทั้งสี่เข้าไว้ด้วยกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2001 Judith Ramaley นักชีววิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและทรัพยากรบุคคลของ NSF ในขณะนั้น ได้ทำการเรียบเรียงตัวย่อดังกล่าวใหม่ให้เป็นคำว่า STEM แทน

STEM เริ่มต้นได้รับความสนใจในสหรัฐอเมริกาเนื่องมาจากรายงานทางการศึกษาที่สำคัญหลายฉบับในช่วงต้นยุค 2000 ได้ชี้ให้เห็นว่ามีการบูรณาการความรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงปัญหาจากผลการทดสอบความรู้ของนักเรียนวัย 15 ปีในโครงการประเมินผลระดับนานาชาติหรือ PISA (Programme for International Student Assessment) ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีนักเรียนจำนวนมากในสหรัฐฯ ที่ทำผลงานได้ต่ำกว่ามาตรฐานในแง่ความสามารถและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ส่งผลให้รัฐบาลมีนโยบายมุ่งมั่นสนับสนุนการศึกษาด้าน STEM เพื่อเพิ่มศักยภาพของเยาวชนและความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลักสูตรที่มุ่งเน้นไปยังทักษะ STEM ได้รับการเผยแพร่และเป็นที่รู้จัก รวมถึงได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วโลกเพิ่มเติมจากในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย จีน ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ รวมถึงสหราชอาณาจักร ขณะที่ประเทศไทยก็เริ่มหันมาให้ความสนใจกับ STEM เช่นเดียวกัน

สาขาวิชาที่เป็นองค์ประกอบของ STEM

Science (วิทยาศาสตร์)

วิชาวิทยาศาสตร์เน้นไปที่การศึกษาหาความรู้เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในธรรมชาติ ผ่านกระบวนการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Enquiry) ซึ่งได้แก่ การตั้งสมมติฐานค้นคว้าอย่างมีขั้นตอน รวบรวมหลักฐาน ทดลองเพื่อพิสูจน์ และสรุปยอดความรู้ตามข้อมูลที่ได้

Technology (เทคโนโลยี)

วิชาเทคโนโลยีเน้นไปที่การนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง รวมไปถึงการแก้ปัญหา ปรับปรุง พัฒนาหรือคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ที่ช่วยตอบสนองความต้องการของคนเรา โดยอาศัยกระบวนการทำงานทางเทคโนโลยี

Engineering (วิศวกรรมศาสตร์)

วิชาวิศวกรรมศาสตร์เน้นไปที่การนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มาใช้พัฒนาเครื่องจักร หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับอำนวยความสะดวกและยกระดับคุณภาพชีวิตมนุษย์และธรรมชาติรอบตัวเรา

Mathematics (คณิตศาสตร์)

นอกจากทักษะการคำนวณที่เรามักเชื่อมโยงกับวิชาคณิตศาสตร์แล้ว สาขาวิชานี้ยังมุ่งเน้นไปที่ทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ เช่น การเปรียบเทียบ การจัดกลุ่ม การจำแนก รวมถึงการบอกรูปร่างและคุณสมบัติต่าง ๆ เป็นต้น และยังให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดความคิดรวบยอด (Concept) คณิตศาสตร์จึงถือเป็นสาขาวิชาที่ช่วยเชื่อมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน

STEM Education หรือ “สะเต็มศึกษา” คืออะไร

STEM Education หรือ “สะเต็มศึกษา” คือการนำเอาทักษะ STEM มาจัดเป็นรูปแบบการศึกษา ที่ผสานรวมหรือบูรณาการความรู้ทั้ง 4 สาขาเข้าด้วยกัน หรือกล่าวได้ว่า เป็นแนวทางการเรียนการสอนที่มีการนำเอาหัวใจหลักของสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน

“สะเต็มศึกษา” หรือ “STEM Education” จะไม่เน้นการท่องจำองค์ความรู้หรือทฤษฎี แต่จะให้ความสำคัญกับการลงมือปฏิบัติจริง และเน้นให้ผู้เรียนทำกิจกรรมด้วยตัวเอง (Active Learning) เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และเกิดความเข้าใจจากการลงมือทำ กล่าวคือเน้นไปที่กิจกรรมแบบโครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) หรือการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning) เพื่อพัฒนาทักษะความคิดอย่างมีระบบและมีเหตุผล รู้จักตั้งคำถามหรือสมมติฐาน การค้นคว้าหาข้อมูล การใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อแก้ไขปัญหา รวมทั้งการวิเคราะห์เพื่อสรุปผลและนำไปต่อยอด

หัวใจสำคัญของ STEM Education หรือ “สะเต็มศึกษา” อยู่ที่การส่งเสริมให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง เรียนรู้จากประสบการณ์ดังกล่าวเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอด โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล มีตรรกะ และเป็นระบบ นอกจากนี้ การได้ลงมือทำด้วยตัวเองจะช่วยให้การเรียนมีความสนุกมากขึ้น ส่งผลให้กระบวนการเรียนรู้แบบ STEM Education มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าระบบการศึกษาแบบเดิมที่เน้นการท่องจำหรือการเรียนที่มีผู้สอนเป็นผู้ให้ความรู้เป็นหลัก

“สะเต็มศึกษา” หรือ “STEM Education” เน้นไปที่การบูรณาการ สร้างความเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาสาขาวิชาทั้ง 4 กับชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ พร้อมทั้งท้าทายความคิดของผู้เรียน และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่ได้เรียนรู้อย่างมีเหตุผล

STEM Education นี้ไม่ใช่สาขาการเรียนรู้ใหม่ แต่เป็นเพียงการบูรณาการองค์ความรู้และทักษะจาก 4 วิชาเท่านั้น รูปแบบการเรียนรู้ STEM ไม่ซับซ้อน และสามารถเริ่มสอนให้ผู้เรียนได้ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลหรือปฐมวัย เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นและศักยภาพของผู้เรียนตั้งแต่เด็ก ความคุ้นเคยกับทักษะ STEM จะช่วยให้เด็ก ๆ เห็นภาพและเข้าใจเรื่องใกล้ตัวได้ดียิ่งขึ้น

ประโยชน์ของ STEM และการเรียน STEM Education

การเรียนรู้ทักษะ STEM หรือการใช้รูปแบบการเรียนแบบ STEM Education (สะเต็มศึกษา) มีประโยชน์มากมายต่อการพัฒนาผู้เรียน สังคม และประเทศชาติ ผ่านการพัฒนาทักษะสำคัญต่าง ๆ ของผู้เรียน ได้แก่

  • ทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving)
  • การคิดวิเคราะห์ (Critical Analysis)
  • การคิดอย่างมีระบบ (Systematic Thinking)
  • การคิดอย่างอิสระ (Independent Thinking)
  • การทำงานเป็นทีม (Teamwork)
  • ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)
  • ความคิดริเริ่ม (Initiative)
  • ทักษะการสื่อสาร (Communication)
  • ทักษะด้านดิจิทัล (Digital Literacy)

ในแง่การจ้างงานนั้น ทักษะ STEM ถือเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ยังมีความขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้าน STEM อีกมากทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ทำให้ผู้ที่เรียนจบในสาขาซึ่งเน้นไปที่ทักษะ STEM นั้นมีโอกาสหางานได้สูง

ทักษะและศักยภาพของกำลังคนในประเทศถือว่าสำคัญเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศโดยรวม โดยเฉพาะในโลกยุคปัจจุบันที่มีความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ และความสามารถในการแข่งขัน ความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ ทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ STEM จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อช่วยให้ประเทศของเราก้าวไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคง

สื่อการสอนเพื่อพัฒนาทักษะ STEM

หลังจากได้เรียนรู้ว่า STEM คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไรกันแล้ว Twinkl.co.th (ทวิงเคิล) ขอนำเสนอศูนย์รวมสื่อการสอนและกิจกรรม STEM ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะ STEM และความคิดสร้างสรรค์ และปูทางให้กับนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักคณิตศาสตร์ หรือนักประดิษฐ์ทางเทคโนโลยีในวันหน้า ลองดูตัวอย่างบางส่วนได้เลย

บัตรกิจกรรมจัดหมวดหมู่สิ่งของที่มีอำนาจแม่เหล็ก (Magnetism Object Sorting Cards)

สื่อการสอนนี้มาพร้อมบัตรคำศัพท์พร้อมรูปสิ่งของเพื่อให้ผู้เรียนแยกประเภทสิ่งที่มีอำนาจแม่เหล็กและไม่มีอำนาจแม่เหล็ก ผู้สอนสามารถเตรียมสิ่งของทั้งหมดหรือบางส่วนจากบัตรคำให้นักเรียนทดลองด้วยแม่เหล็กว่าจะดึงดูดสิ่งของในบัตรคำได้หรือไม่เพื่อหาคำตอบด้วยตัวเอง

ใบงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสสารแบบผันกลับได้และผันกลับไม่ได้ (Changing States Reversible Irreversible Changes Worksheet)

เรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสสารจากการทดลอง 3 ข้อง่าย ๆ ด้วยช็อกโกแลต น้ำ และขนมปัง นักเรียนจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบผันกลับได้หรือไม่

ใบงานการแชร์ข้อมูลออนไลน์ (Sharing Information Online Worksheet)

ทุกวันนี้เด็กและเยาวชนมีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและใช้เวลาในโลกออนไลน์อย่างแพร่หลาย เช่น การใช้โซเชียลมีเดียหรือเกมมิ่ง คุณครูและผู้ปกครองสามารถใช้กิจกรรมนี้เพื่อพูดคุยกับเด็ก ๆ ว่าข้อมูลใดสามารถแชร์ออนไลน์ได้ และข้อมูลใดต้องเก็บเป็นความลับและไม่แบ่งปันบนโลกออนไลน์โดยเด็ดขาด รวมทั้งให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นว่าทำไมจึงไม่ควรแชร์ข้อมูลเหล่านั้น

Twinkl (Thailand) Tip: โค้ดดิ้ง (Coding) ถือเป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญของ STEM ดูข้อมูลเพิ่มเติมพร้อมกับตัวอย่างสื่อการสอนโค้ดดิ้งได้ในจากทีมงานของเราบทคามเกี่ยวกับความหมายและความสำคัญของโค้ดดิ้ง

งานประดิษฐ์โมเดลรถไฟกระดาษ (Transport Paper Model Train)

สนุกไปกับกิจกรรมประดิษฐ์โมเดลรถไฟกระดาษ เพียงดาวน์โหลดเทมเพลตพร้อมวิธีทำออกมาเพื่อให้ผู้เรียนสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองได้เลย

ความสัมพันธ์ของจำนวน (การทำจำนวนให้ผลรวมเป็น 10) – Number Bonds of 10 Worksheet

ใช้แบบฝึกหัดความสัมพันธ์ของจำนวน (Number Bonds) เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับ Number Bonds หรือความสัมพันธ์ระหว่างตัวเลข 2 จำนวนให้ได้ผลบวกเท่ากับ 10 ความคุ้นเคยกับ Number Bonds หรือ Number Pairs ในลักษณะนี้จะช่วยให้เด็ก ๆ เข้าความสัมพันธ์ระหว่างตัวเลขต่าง ๆ ส่งผลให้คิดเลขในใจได้เร็วขึ้น

ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก:

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *